เปลี่ยนการแสดงผล
ผลการดำเนินงาน
          นางสุนิดา  สกุลรัตนะ  ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานท่าเรือเชียงแสน (ทชส.) และท่าเรือเชียงของ (ทชข.) ประจำเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ปัจจุบัน ทชส. และ ทชข. มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 30 % เป็นรายได้จากค่าภาระการใช้ท่า  ของเรือ  ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป  รายได้เกี่ยวกับสินค้าและค่าธรรมเนียมการใช้บริการ  รวมทั้งรายได้เกี่ยวกับการบริการ  ส่งผลให้ ทชส. และ ทชข. มีกำไรต่อเนื่อง 
 
          ปัจจุบัน ทชส. มีขีดความสามารถในการรับเรือสินค้าที่ขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขงได้ประมาณวันละ 12 – 14 ลำ  ท่าเทียบเรือมีความยาว 250 เมตร มีปั้นจั่นหน้าท่าขนาด 50 ตัน จำนวน 1 คัน และ 10 ตัน จำนวน 1 คัน พร้อมมีสายพานลำเลียง 1 ชุด  สำหรับ ทชข. มีขีดความสามารถในการรับเรือขนาด 80 – 100 ตัน ได้ประมาณวันละ 3 – 5 ลำ  ซึ่ง ทชส. และ ทชข. มีรายได้หลักจากค่าภาระการใช้ท่าและค่าธรรมเนียมการยกขนสินค้า สำหรับสินค้าผ่านท่าขาเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ผักสด กระเทียม  เมล็ดทานตะวัน  ผ้าทอ  และไฮท์คาร์บอนแมงกานีส  ส่วนสินค้าผ่านท่าขาออก ได้แก่ น้ำมันปาล์ม  ยางเครฟ  ผงชูรส  ยางแผ่นรมควัน  และน้ำมันพืช  ประมาณการรายได้ในช่วง 5 ปี มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่ากับ 10.31 ล้านบาท ในปี 2550 เนื่องจากปริมาณเรือและปริมาณสินค้าที่เข้ามาใช้บริการของแต่ละท่าเพิ่มขึ้นทุกปี  ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปีแรก มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน เนื่องมาจากมีปริมาณเรือ และปริมาณสินค้าผ่านท่าที่มีจำนวนไม่มาก  และตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นมา  ทชส. เริ่มมีผลกำไรจากการดำเนินงาน  และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 (ม.ค. – พ.ค. 50) มีกำไรสุทธิ 259,473.60 บาท
 
          อนึ่ง กทท. เจ้าบริหารจัดการ ทชส. และ ทชข. นั้น  เป้าหมายหลักคือ การสนับสนุนการค้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตามนโยบายของประเทศเป็นสำคัญ และให้มีรายได้พอเพียงกับค่าใช้จ่าย  มิได้มุ่งเน้นที่กำไรสูงสุด  ซึ่งจากระยะเวลาที่ผ่านมา การค้าในภูมิภาคนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นสากลมากขึ้น  ถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย  ทั้งนี้ กทท. มิได้หยุดนิ่ง ยังได้ปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยได้วางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างท่าเรือภูมิภาคแต่ละแห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และนำระบบเชื่อมโยงแบบโลจิสติกส์มาสนับสนุนการดำเนินการขนส่งสินค้า เป็นการใช้ทรัพยากรในการบริหารร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้สามารถรองรับการค้าระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโดจีน เช่น ประเทศจีนตอนใต้  เป็นการตอบสนองโครงสร้างธุรกิจแบบใหม่ของ กทท. อีกทางหนึ่งด้วย